วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นางกวักบูชาเนื้อโลหะ


                    นางกวักบูชาเนื้อโลหะผสม สร้างและปลุกเสกโดย พระครูอุดมวรเวท (หลวงพ่อสังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                         นางกวักองค์นี้ เป็นสมบัติของ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ไปทำบุญที่วัดและได้รับมาจากวัดนากันตมโดยตรง เข้าใจว่าเป็นนางกวักที่หลวงพ่อสังข์ สร้างคราวที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสกใหญ่ในปี พ.ศ.2523


                       ในคราวนั้น เป็นการสร้างวัตถุมงคลมากมายหลายชนิดและปลุกเสกรวมกับเหรียญรุ่น 3 ซึ่งเป็นเหรียญรุ่นสุดท้าย


                                เพิ่มภาพ ด้านหลังนางกวัก


                     ภาพการสร้างและปลุกเสกใหญ่วัตถุมงคลปี 2523 ด้านหลังจะเห็นวัตถุมงคลชนิดต่าง ๆ ที่นำเข้าในพิธีจำนวนมาก วางอยู่ด้านหลังของหลวงพ่อ ในบริเวณราชวัตร 4 มุม มีฉัตรขาว ต้นกล้วบ ต้นอ้อย เทียนมงคล ด้ายสายสิญจน์วงล้อมรอบตามสูตรพิธีพุทธาพิเสกป๊ะ

                    ตามประวัติการสร้าง ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อสังข์ ท่านชอบสร้างและปลุกเสกวัตถุมงคลทีละอย่าง จำนวนไม่มาก และชอบปลุกเสกเดี่ยวที่กุฎิของท่าน แต่คราวสร้างปี 2523 หลวงพ่อสร้างจำนวนมากหลายชนิดมากกว่าทุก ๆ ครั้ง ที่หลวงพ่อเคยสร้างมา เล่ากันว่าเป็นการทิ้งทวนครั้งใหญ่ มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ ภาพถ่าย พระบูชาชนิดต่าง ๆ หลายขนาด รวมทั้งนางกวัก พระโค นางสิกขี ราหูอมจันทร์ ปลา เต่า ฯ ล ฯ การปลุกเสกเป็นการปลุกเสกหมู่ โดยปลุกเสกในโบสถ์มหาอุด วัดนากันตม อีกทั้งหลวงปู่ได้นิมนต์พระจำนวนหลายรูปมาร่วมในพิธีปลุกเสกด้วย การปลุกเสกเป็นพิธีใหญ่มากปลุกเสกกันยาวนานตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้าของอีกวันกันเลยทีเดียว


                     รอบฐานนางกวักด้านหลัง หลวงพ่อลงเหล็กจาร ยันต์คาถาพระเจ้า 5 พระองค์ นะ โม พุท ธา ยะ ส่วนฐานด้านอื่นอีก 3 ด้าน ไม่มีการลงเหล็กจาร


                      ใต้ฐานนางกวัก อุดด้วยปูนปลาสเตอร์ ไม่ปรากฎร่องรอยการฝังตะกรุด และเขย่าดูแล้ว ไม่มีการฝังกริ่งแต่ประการใด


                 บริเวณกลางฝ่ามือขวา ซึ่งเป็นมือข้างที่ยกขึ้นมากวักหลวงพ่อจารยันต์ตัวหนึ่งไว้ แต่แผ่วเบามาก แต่เดาว่าเป็นยันต์ อิ


                  บริเวณขมับด้านขวาของนางกวัก หลวงพ่อจารยันต์ มะ


                   บริเวณขมับด้านซ้ายของนางกวัก หลวงพ่อจารยันต์ นิ


                   ส่วนบริเวณอื่น ๆ ทั่วทั้งใบหน้าและบริเวณอื่น ๆ ขององค์นางกวัก ไม่ปรากฎร่องรอยการลงเหล็กจารแต่ประการใด
                   ศิษย์สุริโย ใคร่ขอกราบขอบพระคุณข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ได้อนุญาตให้นำภาพและข้อมูลออกเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานเป็นอย่างสูงและขอกราบคารวะ ท่านพระครูอุดมวรเวท (หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยความเคารพและศรัทธายิ่ง

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นางกวัก พิมพ์เล็ก


                      นางกวัก พิมพ์เล็ก เนื้อดินเคลือบรักแดง สร้างและปลุกเสกโดย พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                      ด้านหลังเรียบ ไม่มีการประทับยันต์หรือจารเปียก จารแห้งแต่ประการใด ส่วนดินที่นำมาสร้างนั้น จะเป็นดิน 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดิน 7 ห้วย ดิน 7 ท่าน้ำ เนินดินฟ้าผ่า 7 แห่งหรือเปล่า ? ก็มิอาจจะทราบได้ แต่คิดว่าระดับ หลวงพ่อสังข์ สุริโย วัดนากันตม สร้างแล้วต้องไม่ธรรมดาคาดว่าจะต้องเป็นดินที่ต้องอาถรรพ์อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน


                       ขนาดของนางกวักเล็กจิ่ว เล็กแค่ไหนดูเอาเองก็แล้วกันเมื่อเทียบกับเหรียญเงิน 25 สตางค์ แต่สำหรับพุทธคุณของนางกวักเล็กจิ๋วองค์นี้แล้ว ไม่ได้เล็กหรือด้อยลงไปตามขนาดขององค์พระนะครับ เพราะพระอาจารย์บุญมี ปภัสโร วัดสระเกศ ศิษย์เอก เคยยืนยันไว้ว่า พระที่หลวงพ่อสังข์สร้าง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สร้างด้วยเนื้ออะไรไม่สำคัญ ดีทุกอย่างเพราะว่าอยู่ที่วัสดุมวลสารที่นำมาสร้าง กรรมวิธีการสร้างและการปลุกเสกเพราะหลวงพ่ออัดพลังพุทธคุณเต็มที่ในการสร้างทุกครั้งเป็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ขนาดเล็กหรือใหญ่แต่ประการใด


                 ศิษย์สุริโย ขอกราบคาระวะ พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยความเคารพและศรัทธายิ่ง

วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ปลัดขิก เพชรพญาธร เนื้อกัลปังหาดำ


                    ปลัดขิก เพชรพญาธร เนื้อกัลปังหาดำ สร้างและปลุกเสกโดย พระครูอุดมวรเวท ( สังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                     กัลปังหาดำ เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีชีวิตอยู่ในน้ำทะเลจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม แต่เมื่อตายแล้วและนำขึ้นจากน้ำทะเลมาอยู่บนบก กลับมีลักษณะที่ตรงกันข้ามคือแข็งมาก เชื่อกันว่าเป็นของทนสิทธิ์ที่มีพลังลึกลับอยู่ในตัวแม้ไม่ได้รับการปลุกเสกก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับงาช้าง ยิ่งเมื่อได้นำมาสร้างเป็นเครื่องรางและได้รับการปลุกเสกจากราชาเครื่องรางแดนอีสานใต้นาม หลวงพ่อสังข์  สุริโย แห่งวัดนากันตมด้วยแล้ว ยิ่งจะเพิ่มพลังขึ้นอีกเป็นร้อยเท่าทวีคูณเป็นแน่แท้


                   ปลัดขิกเพชรพญาธร กัลปังหาดำเป็นเครื่องรางที่หายากมากเข้าใจว่าน่าจะมีเพียงไม่กี่ชิ้น เล่ากันว่าลูกศิษย์ของหลวงพ่อสังข์ ที่เป็นนายทหารเรือได้นำมาให้หลวงพ่อทำเป็นปลัดขิก เนื่องจากกัลปังหาดำเป็นของหายากมากจะมีเฉพาะแถบชายทะเลเท่านั้น อีกทั้งกัลปังหาแกะยากเพราะมีความแข็ง เมื่อแกะแล้วหลวงพ่อยังต้องอุดกริ่งและลงเหล็กจารด้วย ต้องใช้ความเพียรและเวลานานมากในการสร้างแต่ละชิ้น จึงเป็นเครื่องรางที่พบเห็นน้อยมาก

   
                        ศิษย์สุริโย ขอกราบคาระวะ พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยความเชื่อมั่นและเคารพศรัทธายิ่ง

วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นางสิกขี(เปลือย) เนื้อโลหะสัมฤทธิ์

                
                 นางสิกขี(เปลือย) เนื้อโลหะสัมฤทธิ์สร้างและปลุกเสกโดย ราชาเครื่องรางแดนอีสานใต้ นาม พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                  นางสิกขี พิมพ์นี้ หลวงพ่อออกแบบได้คลาสสิคมาก โดยวางยันต์อุณาโลมไว้ในองค์พระถึง 5 จุด อุณาโลม 2 จุดแรก วางไว้ที่หูทั้ง 2 ข้าง อุณาโลมจุดที่ 3 และ 4 วางไว้ที่ขาทั้ง 2 ข้าง ส่วนอุณาโลมจุดสุดท้าย จุดที่ 5  วางไว้ที่กลางหน้าอก


                    ส่วนด้านหลัง ปรากฎยันต์ นะ มหานิม ขึ้นยอด
 9 หยัก แทนคาถา อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ ภุ พะ



                        การสร้างพระเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ของหลวงพ่อสังข์ นั้น เป็นการสร้างพระแบบอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านแบบโบราณ ที่เรียกกันว่า การหล่อพระแบบโบราณเทดินไทย ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีการสร้างพระแบบนี้แล้ว เพราะว่าขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากจะต้องมีการเตรียมชนวนมวลสารตามสูตรภาคบังคับของโลหะสัมฤทธิ์ชนิดต่าง ๆ  การลงแผ่นยันต์นะ 108 เช่น ยันต์ปทุมจักร ภควัมบดี ไตรสรณาคม นวโลกุตรธรรม มงกุฏพระพุทธเจ้า บารมี 30 ทัศ โสฬสมงคล ฯลฯ จนครบ 108 นะ ต่อมาก็ต้องลง นะปถมัง 14 เช่น นะบังสมุทร นะนาคบาศก์ นะวชิราวุธ นะทน นะครอบจักรวาล นะกำจัด นะกำจาย นะล้อม ฯลฯ เป็นต้น จนครบ 14 นะ จากนั้นก็จะต้องมีความรู้ในการหาฤกษ์งามยามดีในการหล่อพระให้ถูกต้อง การหลอมโลหะแบบโบราณหลวงพ่อใช้เตาหลอมโลหะที่ทำขึ้นเอง พระอาจารย์บุญมี วัดสระเกศ เล่าให้ฟังว่าเคยเห็นหลวงพ่อสังข์ท่านหล่อพระด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแกะบล็อค การเตรียมชนวนมวลสารซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญในการหล่อพระเนื้อโลหะสัมฤทธิ์มาก ท่านต้องใช้ความเพียรในการลงแผ่นยันต์ชนิดต่าง ๆ จนครบตามสูตร หรือแม้แต่การหลอมโลหะในเบ้าหลอม หลวงพ่อก็ทำด้วยตัวเองคนเดียวในทุกขั้นตอน ขณะทำก็บริกรรมคาถาและปลุกเสกไปพร้อมกันด้วย พระอาจารย์บุญมีเล่าเสริมอีกว่าเคยเห็นแม้กระทั่ง อุปกรณ์สูบเป่าลมเข้าเตาหลอมเพื่อให้ถ่านไฟลุกแดง หลวงพ่อก็เป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง ท่านจำได้ว่าเป็นชนิดสูบเดี่ยวแบบนอน ถุงลมทำด้วยหนังควายเผือกทำเป็นถุงลมอย่างหนาและเหนียวมาก เย็บอย่างดีไม่ให้มีรูรั่ว ภายในมีลูกสูบสำหรับอัดลมและมีรูเล็กๆ สำหรับพ่นลมออกจากถุงเข้าสู่เตาหลอม เวลาจะใช้ก็ขึ้นไปนั่งบนถุงลมและใช้ก้นกดน้ำหนักลงไปเป็นจังหวะเพื่อให้ลมดันออกมา หลวงพ่อเป็นช่างฝีมือดีมากคิดประดิษฐ์สิ่งของเครื่ิองใช้ไว้ใช้เอง เช่น หลวงพ่อทำกระเป๋าหิ้วใส่จีวรและสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว โดยใช้หนังควายตัดเป็นชิ้น และเย็บด้วยมือทำเป็นกระเป๋าไว้ใช้สำหรับเดินทางไปค้างคืนนอกวัด ซึ่งหลวงพ่อทำได้สวยงาม ทนทานมาก ที่ข้างกระเป๋าด้านนอกหลวงพ่อลงเลขยันต์และปลุกเสกอย่างดี ท่านใช้กระเป๋าใบนั้นอยู่หลายปีบางครั้งพระอาจารย์บุญมีก็เป็นคนช่วยถือ ทั้งลงไปกรุงเทพ ฯ หรือข้ามไปเวียงจันทน์ สปป.ลาว ท่านใช้ติดตัวตลอด จนกระทั่งท่านมรณภาพ ไม่ทราบว่ากระเป๋าใบนั้นตกไปอยู่ที่ใคร


               หลวงพ่อสังข์ ท่านมีชื่อเสียงมานานแล้วในการทำเครื่องราง ของขลัง เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ซึ่งท่านทำได้เป็นอย่างดีไม่แพ้เนื้อผงว่านและเนื้ออื่น ๆ และก็เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์ใกล้ชิด ดังเช่น ข้อเขียนของคุณ greenlemon ที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในเรื่อง ผู้สำเร็จอภิญญา ทิพยโสต ?


                      ข้อความต่อไปนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า หลวงพ่อสังข์ท่านมีชื่อเสียงในการสร้างวัตถุมงคลเนื้อโลหะสัมฤทธิ์มาตั้งนานแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ทันหลวงพ่อดังข้อเขียนตอนหนึ่งว่า...เมื่อสมัยหลวงพ่อสังข์ ยังอยู่ที่วัดนากันตม ผมและเพื่อน ๆ ไปกราบท่านเป็นประจำ เพื่อนแต่ละคนมีการขอความรู้จากท่านในเรื่องราวต่าง ๆ ที่สนใจ อาทิเช่น การทำเนื้อสัมฤทธิ์ ฯลฯ ...  

                     ศิษย์สุริโย ใคร่ขออนุญาต greenlemon  คัดลอกข้อความบางตอนออกมาอ้างอิงเพื่อเป็นวิทยาทานเป็นอย่างสูงครับ ดังนั้นเพื่อน ๆ ทั้งสายตรงและสายอ้อม ถ้ายังไม่มีเครื่องราง ของขลัง เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ให้รีบมองหามาไว้เข้าชุดของหลวงพ่อสังข์ได้แล้ว ก่อนที่ราคาจะไปไกลจนยากที่จะเอื้อมถึง 

                     ศิษย์สุริโย เคยเจอคหบดีศรีสะเกษท่านหนึ่ง ท่านสะสมพระโคโพธิสัตว์ของหลวงพ่อสังข์อยู่หลายชิ้น มีครบทุกพิมพ์ หนึ่งในนั้นเป็นพระโคโลหะเนื้อสัมฤทธิ์พิมพ์ใหญ่ ท่านหวงยิ่งกว่าพระโคเนื้อผงว่านยา เนื่องจากท่านเป็นผู้ศึกษาศาสตร์ของการสร้างเครื่องราง ของขลัง เนื้อโลหะสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และท่านมีความรู้เรื่องการสร้างเครื่องรางเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ของหลวงพ่อสังข์อย่างลึกซึ้ง โดยศึกษาจากจากศิษย์ผู้รับใช้ไกล้ชิดหลวงพ่อสังข์ขณะที่ท่านยังอยู่ ซึ่งศิษย์ผู้นี้เคยรู้ เคยเห็น เคยเป็นลูกมือในการสร้าง ต่อมาหลวงพ่อสังข์ได้มอบพระโคเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการตอบแทนก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ต่อมาพระโคองค์นี้ตกมาอยู่กับคหบดีท่านนี้ ทำให้ท่านหวงเป็นพิเศษและไม่ยอมเปิดราคา แม้แต่ขอดูองค์จริงก็ยังยาก






                     ศิษย์สุริโย ใคร่ขอกราบคารวะ ท่านพระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยความเคารพและนับถือศรัทธายิ่ง

วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นางพญา นากันตม


                        นางพญา หลวงพ่อสังข์  สุริโย วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                    รูปลักษณ์ขององค์พระ  ท่าทางการนั่ง การวางมือ คล้ายกันกับพิมพ์พระนางพญา ในชุดเบญจภาคี แต่ที่ต่างก็คือ เป็นพระเนื้อว่านลงทอง



                   องค์พระเล็กกระทัดรัด ลงทองสวยงามมาก คลาบไคล ความเก่า ได้อายุ


                      ด้านหลัง มวลสารจัดจ้านมาก สร้างด้วยว่าน 108 สรรพยา 108 ผสมผงพุทธคุณอื่น ๆ อีกหลายอย่างนับไม่ถ้วนและปลุกเสกแบบศิลปินเดี่ยวตามแบบฉบับของ หลวงพ่อสังข์  สุริโย วัดนากันตม ส่วนพุทธคุณคงไม่ต้องพูดถึงอีก ศิษย์สายตรงและสายอ้อมรู้ดีกันอยู่แล้ว
                      ศิษย์สุริโย ขอขอบคุณผู้ไม่ประสงค์ออกนามเจ้าของพระเช่นเคย
                      

วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

ราหูอมจันทร์ เนื้อโลหะ ห่วงใหญ๋


                 ราหูอมจันทร์ เนื้อโลหะห่วงใหญ่ สร้างและปลุกเสกโดย ราชาเครื่องราง ของขลัง แดนอีสานใต้นาม หลวงพ่อสังข์ สุริโย (พระครูอุดมวรเวท) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                   ราหูอมจันทร์ องค์นี้ เป็นเนื้อโลหะผสมสัมฤทธิ์เนื้อออกแดง(สัมฤทธิ์ผล) หรือ ตรียะโลหะ มีความหมายในเชิงปริศนาธรรม หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสัมฤทธิ์เนื้อ 3 ซึ่งมีส่วนผสมที่ประกอบไปด้วย ทองแดงเป็นส่วนใหญ่ เจือด้วยเงิน และทองคำ เมื่อหลอมละลายด้วยความร้อนสูงผสมกันออกมาแล้วจึงมีวรรณะคล้ายเนื้อนาค ผิวออกแดงคล้ำคล้ายเนื้อมะขามเปียก


                  กลางหลังแกะบล็อคเป็นรูปยันต์เฑาะว์ขัดสมาธิ หรือเฑาะว์มหาพรหม ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อไว้เป็นสำคัญ


                   ล้อมรอบยันต์เฑาะว์ขัดสมาธิ แกะบล็อคเป็นอักษรขอมโดยใช้คาถากาสลัก จะ ภะ กะ สะ ซึ่งเป็นคาถาประจำตัวของหลวงพ่อ


                   แถวบนสุด 2 ตัว แกะบล็อคยันต์ นะ มะ และล่างสุด 2 ตัว แกะบล็อคยันต์  พะ ทะ รวมกัน 4 ตัว เป็นคาถา นะ มะ พะ ทะ เรียกกันว่าเป็นหัวใจธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม แกะบล็อคเป็นอักษรขอมเช่นเดียวกัน


                    ส่วนตรงสะโพกด้านหลัง ใต้ยันต์เฑาะว์ขัดสมาธิ หลวงพ่อแกะบล็อคเป็น นะ อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน แต่ดูไม่ออก และเดาก็ไม่ถูกว่าเป็นนะอะไร ใช้ในทางไหน


                   ห่วงเป็นลักษณะห่วงใหญ่ในตัว ไม่ได้ใช้ลวดทองแดงฝังลงไปทำเป็นห่วง ใต้ฐานไม่ได้อุดผงพุทธคุณ  และไม่ได้ฝังกริ่ง
                   ส่วนพุทธคุณของราหูอมจันทร์ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอีก


                   ศิษย์สุริโย ใคร่ขอกราบคารวะ หลวงพ่อสังข์  สุริโย ด้วยความเคารพและศรัทธายิ่ง

วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปลัดลิงขี่ เขาควายแกะ 2


                  ปลัดลิงขี่ เขาควายแกะ สร้างและปลุกเสกโดย ราชาเครื่องราง ของขลัง แดนอีสานใต้นาม พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย)  วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
                  เขาที่ใช้แกะ เป็นเขาควายดำขนาดใหญ่ที่กลายเป็นคด เรียกกันว่า คดเขาควาย เป็นของหายากและเป็นของทนสิทธิ์ที่มีคุณวิเศษในตัวเองตามธรรมชาติ แม้มิได้ปลุกเสกก็ตาม สังเกตุดูจะเห็นความเก่าของเขาควายได้อายุ แตกลายเป็นธรรมชาติ หลวงพ่อจารยันต์ อุมะ อุมิ  ไว้ที่แก้มบริเวณหัวและลำตัวของปลัดทั้งสองด้านชัดเจน


                      เอกลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่าปลัดตัวนี้เป็นของหลวงพ่อสังข์ สร้างและปลุกเสก ก็คือ หลวงพ่อจารยันต์เฑาะว์ขัดสมาธิ(เฑาะว์ขึ้นยอด) หรือ เฑาะว์มหาพรหม ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อไว้บนส่วนหัวเป็นสำคัญ


                            รูปทรงหลวงพ่อแกะเป็นรูป ลิงขี่ปลัดซึ่งออกแบบได้สวยงามและคลาสสิคมาก
                                     
   
                 ฝีมือการแกะชั้นครู สมกับคำเล่าลือว่า หลวงพ่อสังข์ ทำอะไรก็สวย ทำอะไรก็ขลัง

                                   
                  เพิ่มภาพ ดูกันหลาย ๆ มุม
             

                         ความเก่าของคดเขาควาย เส้นสายลวดลาย รอยปริแตกของเขาควายเป็นธรรมชาติ ของฝีมือที่ทำเลียนแบบไม่สามารถทำได้เหมือนแน่นอน


                     ดูกันหลาย ๆ มุม แบ่งกันชม ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง กายภาพของปลัดจะโค้งงอตามธรรมชาติของเขาควาย เนื่องจากปลัดตัวนี้แกะจากปลายเขาทั้งอัน


                        ปลัดตัวนี้น่าจะสร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อจงใจตอบแทนน้ำใจให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดคนใดคนหนึ่งเป็นแน่แท้ เพราะปกติรูที่เจาะไว้เพื่อร้อยเชือกตอนส่วนท้ายของปลัด หลวงพ่อจะเจาะเป็นรูไว้เท่านั้น ส่วนเชือกนั้นให้ลูกศิษย์ไปหาร้อยกันเอาเองตามใจชอบ แต่ตัวนี้หลวงพ่อทำให้เป็นกรณีพิเศษโดยนำสายรัดประคตคาดเอวของหลวงพ่อมาทำเป็นเชือกและทำการร้อยให้เสร็จสรรพ จึงมีสีสรรสวยงามแปลกตาไปอีกแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน



                  นี่ก็อีกมุม ให้ดูกันหลาย ๆ มุม จะได้รู้ว่า หลวงพ่อสังข์ ท่านมีฝีมือในการแกะปลัด สุดยอดแค่ไหน


                    ดูสวย ๆ อีกมุม ไอ้เจ้าลิงขี่มันทำหน้าบ้องแบ๊ว หน้าตาน่ารัก น่าชัง ปลัดลิงขี่ตัวนี้ขนาดเขื่องพอสมควร ตัวใหญ่ ยาว ความยาวตั้งแต่หัวจดท้ายยาวถึง 6 นิ้ว หนา 2 นิ้ว ลุงที่เป็นเจ้าของเดิมเชื่อมั่นในพุทธคุณปลัดตัวนี้มาก เมื่อออกจากบ้านไม่ว่าจะไปไหนพกติดตัวไว้ที่เอวตลอดเวลาไม่เคยห่าง เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยพกไปเที่ยวงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ ตำรวจขอตรวจค้นเห็นตุง ๆ ที่กระเป๋ากางเกงคิดว่าพกปืนมาเที่ยว ไม่ยอมให้ผ่านประตู สั่งให้ล้วงออกมาดู ลุงอิดออดไม่อยากล้วง บอกว่าเป็นปลัดก็ไม่มีใครเชื่อ ในที่สุดพอล้วงออกมาให้ดูก็ฮือฮาตามมาด้วยเสียงหัวเราะครื้นเครงกันทั้งกลุ่ม พากันเข้ามามุงดูและสอบถามข้อมูลกันเป็นการใหญ่ บางคนชอบใจขอซื้อทันทีโดยเสนอราคาให้ค่อนข้างสูงแต่ลุงก็ไม่ขายบอกว่าจะเอาไว้ใช้อย่างเดียว 
                    แต่ต่อมาหลายปีให้หลังลุงอายุมากขึ้นสุขภาพไม่แข็งแรงแถมยังเจ็บไข้ได้ป่วยอีกหลายโรค มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงได้มีการเปลี่ยนมือเกิดขึ้น ปลัดตัวนี้จึงได้ออกมาสู่สายตาให้พวกเรา ๆ ท่าน ๆ ได้ยลโฉมกันนี่แหละครับ

                                                                                                                 ปลัดลิงขี่ตัวนี้หลวงพ่อฝังกริ่งเอาไว้ เขย่าดูเสียงดังกังวาล ส่วนใหญ่ปลัดเขาควายแกะของหลวงพ่อจะฝังกริ่งไว้บริเวณส่วนหัวแทบทุกตัว



                   บั้นท้ายปลัดแกะได้รูปทรงสวยงามมาก สำหรับปลัดเขาควายแกะของหลวงพ่อสังข์ เท่าที่พบส่วนใหญ่ที่เป็นรูปแบบหลัก ๆ หลวงพ่อจะแกะเป็น 3 รูปแบบ ที่เป็นมาตรฐาน ดังนี้คือ
                      1. แกะเป็นรูปลิงขี่ ส่วนหัวจะจารยันต์ เฑาะว์ขัดสมาธิ ส่วนแก้มและลำตัว จารยันต์ อุมะ อุมิ  
                      2. แกะเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำ ส่วนหัวมีทั้งจารยันต์ เฑาะว์ขัดสมาธิ และยันต์ อุ ส่วนแก้มและลำตัว มีทั้งจารยันต์ อุมะ อุมิ ยันต์ มิ ยันต์ บิ และ ยันต์ กัณหะ เณหะ
                      3. แกะเป็นรูปผู้หญิงนอนหงายหรือเรียกกันว่า นางนอน ส่วนหัวจารยันต์ เฑาะว์ขัดสมาธิ ส่วนแก้มและลำตัวจารยันต์ อุมะ อุมิ
                          ส่วนปลัดรูปแบบอื่น ๆ ที่หลวงพ่อสังข์แกะจากเขาควายอย่างดียว (ไม่รวมถึงงาช้าง แก่นไม้ต่าง ๆ และกัลปังหา) ก็อาจจะมีแตกต่างจากนี้บ้าง แต่ว่าเป็นส่วนน้อย แต่ก็พอจะแยกแยะออกมาได้โดยให้สังเกตุลายมือ ความคม ชัด ลึก ของยันต์ที่จารเป็นสำคัญ
                          ปลัดเขาควายแกะของหลวงพ่อสังข์ เป็นเครื่องรางที่ใช้ทางเสน่ห์ เมตตามหานิยม ค้าขาย แต่ทางด้านแคล้วคลาดคงกระพันและป้องกันภูตผีปีศาจก็เด่นเช่นกัน ปลัดเขาควายแกะ ที่ทำจากเขาควายที่เป็นคดของแท้ จึงเป็นเครื่องรางที่หายากมาก หายากยิ่งกว่าพระโคโพธิสัตว์อันโด่งดังเสียอีก และแทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนมือ


                 ศิษย์สุริโย ใคร่ขอกราบขอบพระคุณผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่งเจ้าของภาพ ที่ให้ข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับปลัดตัวนี้พร้อมทั้งอนุญาตให้ศิษย์สุริโย นำภาพออกเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานเป็นอย่างสูงครับ