วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประคำไม้ 108


                         ประคำไม้ 108 เม็ด หลวงพ่อสังข์  สุริโย วัดนากันตม บ้านนากันตม ตำบลสังข์เม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เม็ดประคำ แบ่งออกเป็นเม็ดประคำไม้ชนิดต่าง ๆ จำนวน 107 เม็ด เม็ดประคำผง จำนวน 1 เม็ด รวมเป็น 108 เม็ด ไม่รวมยอดประคำ



                          เม็ดประคำไม้ ชนิดต่าง ๆ รวมกัน 107 เม็ด สร้างโดยใช้เครื่องกลึงทีละเม็ดอย่างสวยงาม รูปทรงไม่เหมือนกันและขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปในแต่ละเม็ด แต่ทุกเม็ด เคลือบไว้ด้วยยางไม้ชนิดหนึ่ง เพื่อรักษาสภาพความคงทนถาวรของเนื้อไม้



                          ยอดประคำ เป็นรูปทรงกลมยาวคล้ายนิ้วหัวแม่มือ ขนาดยาวประมาณ 2 นิ้ว เข้าใจว่าข้างในน่าจะเป็นตะกรุดโทนม้วนกลมทำเป็นแกน พอกไว้ด้วยผงวิเศษชนิดหนึ่ง แล้วใช้เชือกถักหุ้มไว้ เสร็จแล้วทาเคลือบไว้ด้วยยางไม้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนตรงกลางเจาะรูไว้ขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อร้อยเชือกประคำที่ทำด้วยเชือกสายร่ม


                          เม็ดประคำผง ซึ่งมีเพียงเม็ดเดียวในพวง ปั้นกลมแต่มีความเกร่งมาก สังเกตุดูผงแล้วขุขระไม่ละเอียดมาก เข้าในว่า น่าจะเป็นผงว่านชนิดต่าง ๆ ผสมไคลเสมาก็อาจจะเป็นได้


                          เม็ดประคำไม้เม็ดนี้ ไม่ทราบว่าเป็นไม้อะไร ร้อยติดยู่กับเม็ดประคำผง สังเกตุดู จะเห็นมีรอยลงเหล็กจารยันต์ นะ 1 ตัว


                          ส่วน เม็ดประคำไม้  2 เม็ดนี้ ไม่ทราบชนิดไม้เช่นกัน หลวงพ่อสังข์ จารยันต์ นะ ไว้เม็ดละตัว สร้อยประคำทั้งเส้น มีรอยจารยันต์ นะ ไว้เพียงแค่ 3 เม็ด เท่านั้น


                          ประคำไม้ ทั้ง 3 เม็ดนี้ จะสังเกตุเห็นสีของเนื้อไม้ และ ความละเอียดของเนื้อไม้แตกต่างกัน อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เม็ดที่ 1 ความละเอียดของเนื้อไม้ละเอียดปานกลาง แต่สีของเนื้อไม้เข้มจัด เม็ดที่ 2 ความละเอียดของเนื้อไม้มีน้อยมากผิวของเนื้อไม้เรียกได้ว่าขุขระ และสีของเนื้อไม้ไม่มีความเข้ม แต่ออกขาวปนเทา เม็ดที่ 3 เนื้อไม้มีความละเอียดมากที่สุด ในจำนวน 3 เม็ด แต่สีของเนื้อไม้มีความเข้มในระดับปานกลาง นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ในจำนวนแค่ 3 เม็ด เท่านั้นนะ และเม็ดอื่น ๆ ก็มีความแตกต่างกันออกไปอีกทั้งชนิด สี และความละเอียดของเนื้อไม้


                          เชือกที่ร้อยสร้อยประคำ เป็นเชือกสายร่ม มีความเหนียวและทนทานมากพอสมควร หลวงพ่อถักร้อยเป็นอย่างดี แถมเก็บปลายเชือกไว้อย่างมิดชิดเรียบร้อยไม่โผล่มาให้เห็นให้เป็นที่รำคาญสายตาอีกต่างหาก


                          ลายถักหุ้มตะกรุดและผงไว้หลวงพ่อสังข์ ก็ถักอย่างประณีตมาก ถักลายได้สวยงามแน่นหนา คงทนถาวรมาก

                          ส่วนชนิดของไม้ ที่นำมาทำเป็นเม็ดประคำนั้น ผู้เขียนไม่มีข้อมูลจริง ๆ ว่าใช้ไม้ชนิดใดบ้าง และไม้แต่ละชนิด มีจำนวนกี่เม็ด เท่าที่ทราบคร่าว ๆ ก็น่าจะมีไม้ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ หนาด ชุมแสงโทน คันทรง กาฝากต้นพระศรีมหาโพธิ์ และ ไม้เท้ายายหม่อม ฯ ล ฯ เป็นต้น

                          ขอขอบคุณผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ได้มอบภาพถ่ายเครื่องรางชิ้นนี้ให้เผยแพร่ เพื่อเป็นวิทยาทานครับ