วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ราหูกะลาแกะ 2 หน้า


                     ราหูกะลามะพร้าวตาเดียวแกะ พิมพ์ 2 หน้า หน้าแรก แกะเป็นรูป ราหูอมพระอาทิตย์ หน้าหลัง แกะเป็นรูปราหูอมจันทร์ ฝีมือการแกะ และ ปลุกเสกโดย พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                   กะลารุ่นนี้ แกะเป็นกะลาคู่ มี 2 ฝา รูปทรงองค์พระที่แกะคล้ายหยดน้ำ หันด้านหลังประกบกัน สุดยอดฝีมือการแกะ เพราะว่าทั้งขนาด พิมพ์ทรง ลวดลาย หน้าตา แกะเหมือนกันทั้ง 2 ฝา ไม่มีผิดเพี้ยน ถ้าดูฝาด้านหน้าด้วยตาเปล่า จะดูไม่ออกว่าฝาด้านไหนเป็นราหูอมพระอาทิตย์ และ ฝาด้านไหนเป็นราหูอมพระจันทร์ แต่ถ้าแกะแล้วแยกฝาทั้งสองออกจากกันและใช้กล้องส่องพระส่องดูด้านหลังกะลา จะสามารถแยกแยะได้จากรอยลงเหล็กจารที่หลวงพ่อสังข์ ลงคาถาอาคมกำกับไว้ เนื่องจากฝาที่เป็นราหูอมพระอาทิตย์ หลวงพ่อจะลงคาถา สุริยประภา ส่วนฝาที่เป็นราหูอมพระจันทร์ หลวงพ่อจะลงคาถา จันทรประภา               
               

                    หลวงพ่อจะนำกะลาทั้ง 2 ฝาที่ลงยันต์และปลุกเสกดีแล้ว หันด้านหลังประกบติดกัน ทำให้เป็นราหู 2 หน้า ไม่มีด้านหน้าและด้านหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ด้าน เหมือนกันทุกอย่าง จึงเรียกกันว่าราหู 2 หน้า ส่วนการประกบด้านหลังติดกันนั้นหลวงพ่อใช้วัตถุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยางตามธรรมชาติที่มีความเหนียวมากเป็นพิเศษเป็นตัวยึดให้กะลาทั้ง 2 ฝา ติดกันอย่างเหนียวแน่นซึ่งก็คือ ชันโรง นั่นเอง เมื่อทำให้ติดกันดีแล้ว แล้วจึงปลุกเสกซ้ำอีกครั้ง
                    ชันโรง  เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งคล้ายผึ้ง อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง ลำตัวและปีกจะเป็นสีดำ ชอบกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อเวลามันถ่ายออกมาจะมีสีดำข้นเหนียวและมีกลิ่นหอมประหลาด มันจะใช้มูลของมันผสมกับดินสร้างรังโดยจะนำไปผสมกับน้ำยางจากต้นไม้ใหญ่ต่าง ๆ ที่มันหาเก็บมา ทำให้รังของมันเหนียวและข้นมาก ส่วนสีนั้นจะต้องเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือออกดำคล้ายยางมะตอย การเรียกชื่อจะเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ผึ้งหอยโข่ง ผึ้งตะโหงกวัว หรือบางแห่งเรียก หูด ขี้ตังนี หรือกินชัน ทางอีสานเขาเรียกว่า ขี้สูด คนอีสานเขานิยมนำมาใช้ติดเครื่องดนตรี เช่น เต้าแคนและโหวต หรือถ่วงเครื่องดนตรีประเภทระนาด โปงราง เป็นต้น ซึ่งขี้สูดนี้จะช่วยทำให้เครื่องดนตรีเกิดเสียงไพเราะ ชันโรงที่ชาวอีสานถือกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์และนำมาใช้สร้างวัตถุมงคลนั้น จะต้องเป็นชันโรงที่ทำรังใต้ดินหรือระดับเดียวกันกับพื้นดิน เช่น ดินที่เป็นจอมปลวกเป็นต้น บางทีเขาก็เรียกว่า ขี้สูดดินเพียง ถ้าชันโรงทำรังตามต้นไม้ หรือตามโคนเสาบ้านเรือนใช้ไม่ได้เพราะทางไสยศาสตร์ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นอาถรรพ์ จึงไม่สามารถป้องกันอาถรรพ์ และเสนียดจัญไรได้ เมื่อพบแล้วก่อนที่จะนำมาใช้จะต้องทำพิธีพลีกรรม ขอจากเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา ตามตำหรับตำราภาคบังคับเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ได้ เมื่อขอแล้วจึงขุดลงไปใต้พื้นดิน บางทีตัองขุดลงไปลึก 1 ถึง 2 เมตร จึงจะได้ขี้สูดตามที่ต้องการ คนโบราณเชื่อกันว่า ขี้สูดดินเพียงเป็นของทนสิทธิ์ที่มีอาถรรพ์ลี้ลับ เป็นวัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติแม้ว่าไม่ต้องปลุกเสกก็ตาม อานุภาพของมันป้องกันไฟ กันคุณไสย มนต์ดำลมเพลมพัด กันเสนียดจัญไร  เป็นมหาอุด และแคล้วคลาด ด้วยความที่ชันโรงเป็นแมลงที่ไม่ดุร้าย จึงถือกันว่ามีเสน่ห์ทางเมตตามหานิยมอีกด้วย 
                   ดังนั้น เมื่อนำกะลาตาเดียวแกะเป็นรูปราหู 2 ฝา และยึดติดด้วยชันโรง(ขี้สูด) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติ อีกทั้งได้รับการปลุกเสกจากสุดยอดเกจิอาจารย์แดนอีสานใต้อย่าง พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยแล้ว จึงเชื่อว่าจะเพิ่มความเข้มขลังให้แก่ราหูกะลาแกะพิมพ์ 2 หน้าองค์นี้ ขึ้นไปอีกเป็นร้อยเท่าทวีคูณเป็นแน่แท้
                   ราหู กะลาแกะแบบ 2 ฝา ประกบด้านหลังติดกันโดยใช้ขี้สูดดินเพียงเป็นกาวยึด ทำเป็นราหู 2 หน้า ปิดหลังนั้น จะพบเห็นได้ยากกว่าแบบ กะลาแกะฝาเดียว เปิดหลัง  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไหนทั้งแบบฝาเดียวหรือ 2 ฝา ถ้าพบเห็นกะลาแกะรูปทรงหยดน้ำ เค้าโครงใบหน้าของอสูรราหูเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเครื่องประดับศรีษะหรือกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ มีกรรเจียกหรือจอนหูประดับหูซ้ายขวาทั้งสองข้าง  ตาโปน และแก้มป่องเหมือนแบบในภาพ อย่าให้พลาดเป็นเด็ดขาดขอบอก
              

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระปิดตา หลังยันต์



                   พระปิดตา หลังยันต์ สร้างและปลุกเสกโดยราชาเครื่องรางแดนอีสานใต้ นาม พระครูอุดมวรเวท(สังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                    ลักษณะเป็นพระปิดตาลอยองค์ พระสรีระอวบอ้วนแบบพระสังกัจจายน์ นั่งอยู่บนฐานสูง ขัดสมาธิเพชร หลังยันต์  ปิดทองทั้งองค์ ขนาดขององค์พระเล็กกระทัดรัด ประมาณปลายนิ้วก้อยเท่านั้น


                    สำหรับพระปิดตาองค์นี้ ใต้ฐานองค์พระเรียบ ไม่ปรากฏร่องรอยการลงเหล็กจาร ใต้ฐานไม่ปรากฏการฝังตะกรุดโผล่มาให้เห็น แต่เมื่อเขย่าดูปรากฏว่ามีเสียงกริ่ง แต่ไม่ใช่การฝังเม็ดกริ่ง แต่เป็นการฝังหลอดตะกรุดเสียงเหมือนกับเสียงกริ่งของพระโคโพธิสัตว์พิมพ์ใหญ่


                  ส่วนยันต์ ที่ปรากฏด้านหลังองค์พระนั้น เป็นยันต์ลายเส้นนูนที่เกิดจากการแกะแม่พิมพ์ ศิษย์สุริโย เข้าใจว่า น่าจะเป็นยันต์คาถาหัวใจกาสลัก ซ่อนหัว ซ่อนหาง คือ จะ ภะ กะ สะ (ผิดพลาดขออภัย) ซึ่งเป็นยันต์คาถาประจำตัวของหลวงพ่อชนิดหนึ่ง ที่หลวงพ่อชอบที่จะใส่ลงบนเครื่องราง ของขลัง อยู่หลายชนิด
                  พระองค์นี้มีประวัติที่น่าสนใจมาก เดิมทีพระองค์นี้กลัดติดอยู่กับย่ามติดตัวของพระอาจารย์อู๊ด ซึ่งเป็นผู้รักษาการณ์เจ้าอาวาสวัดนากันตม หลังจากที่หลวงพ่อสังข์ มรณะภาพในปี 2526 พระองค์นี้พระอาจารย์อู๊ดรับมาจากมือหลวงพ่อสังข์ ต่อมาได้มอบให้ศิษย์เอกที่เป็นฆราวาสคนหนึ่งไว้เพื่อเป็นที่ระลึกก่อนที่จะอำลาจากประเทศไทยไปจำพรรษาอยู่ที่ต่างประเทศแถวทวีปยุโรปแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวียและไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย 
                  ประวัติการสร้างพระรุ่นนี้ หลวงพ่อสังข์ได้นำผงพุทธคุณเก่าที่ทำเก็บไว้มาผสมกับดินสอพองและปั้นเป็นแท่งเขียนและลบผงขึ้นมาใหม่อีกรอบ เพื่อเป็นการจงใจสร้างพระภควัมโดยเฉพาะ โดยเรียกสูตรลงอักขระคาถาพระอิติโสภุชฌงค์ซ่อนหัวและพระอิติโสภุชฌงค์ซ่อนหาง ตามสูตรภาคบังคับของการสร้างพระภควัมบดีตามคัมภีร์พระเวทโบราณ จากนั้นนำไปผสมกับผงที่บดเตรียมไว้แล้วของพืชที่มีใบเป็นไม้รู้นอน เช่น ไมยราพ กระเฉด กระถิน แค ดอกลำโพง เป็นต้น ต่อมานำไปผสมกับเกษรดอกไม้บางชนิด เช่น ดอกรักซ้อน ดอกพุดซ้อน ดอกมะลิซ้อน ดอกกาหลง และ อื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่สำคัญจะต้องผสมผงว่านบางชนิดตามตำราซึ่งจะขาดเสียมิได้เลย ซึ่งประกอบไปด้วย ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว ว่านเสน่ห์จันทร์แดง ว่านพระฉิม ว่านพระเจ้า 5 พระองค์ ว่านหนุมาน ว่านกำแพง 7 ชั้น เป็นต้น คลุกเคล้าให้เข้ากันขณะทำก็บริกรรมคาถาอิติปิโส ฯ ไปตลอดเวลา เมื่อได้ที่แล้วจึงนำผงดังกล่าวไปกดในแม่พิมพ์ซึ่งหลวงพ่อแกะเตรียมไว้แล้ว ต่อมาจึงนำไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำไปลงรักและปิดทองทั้งองค์เป็นขั้นตอนสุดท้าย จึงจะได้องค์พระภควัมอย่างสูมบูรณ์ตามสูตร
                  เมื่อถึงวันเวลาอันเป็นฤกษ์ หลวงพ่อจึงเริ่มพิธีกรรมเข้าพิธีปลุกเสกโดยแต่งเครื่องสังเวยบูชาเทพยดาและสักการะบูชาบูรพาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาคมให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามตำหรับตำราเสียก่อน เสร็จแล้วจึงได้นำพระทั้งหมดใส่ลงไปในบาตรพระครั้งละไม่มากนัก ประมาณ 40 - 50 องค์ต่อครั้ง นัยว่าเพื่อให้จำนวนพระพอประมาณอยู่ในก้นบาตรเท่านั้น  เสร็จแล้วนำฝาบาตรปิดให้มิดชิด และเริ่มสวดคาถาพระอิติปิโสภุชฌงค์ซ่อนหัว - ซ่อนหาง สลับกันไปมาเรื่อยไปไม่หยุด จนกระทั่งได้ยินเสียงพระภควัมเริ่มเคลื่อนไหววิ่งวนเวียนอยู่ในบาตรและเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีเสียงกระทบบาตรดังหึ่มเหมือนแมลงภู่บิน กล่าวกันว่าห้ามเปิดฝาบาตรดูเด็ดขาด ถ้าเปิดพระภควัมจะกลายเป็นแมลงบินหนีหายไป ดังนั้นจะต้องบริกรรมคาถาไปเรื่อย ๆ จนกว่าเสียงดังหึ่มในบาตรจะหยุดไปเอง เมื่อเสียงสงบเงียบดีแล้วจึงจะถือว่าเสร็จพิธีการปลุกเสกบริกรรม เมื่อเปิดดูก็จะเห็นพระภควัมทั้งหมดทุกองค์นั่งสลอนเป็นระเบียบอยู่กลางบาตร และหันหน้ามาทางผู้ประกอบพิธีปลุกเสกเสมอจึงจะถือว่าใช้ได้ การปลุกเสกจึงเน้นคุณภาพ ไม่ได้เน้นปริมาณ การปลุกเสกแต่ละครั้ง ได้แค่บาตรละ 40 - 50 องค์ ต่อครั้งเท่านั้น
                   กล่าวกันว่าพระปิดตาที่ปลุกเสกตามตำรานี้มีพุทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก แสดงอิทธิปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ใช้ได้ทุกอย่างครอบจักรวาล ตามแต่จะปรารถนาและอธิษฐานเอา เมื่อนำติดตัวไปจะทำให้มีเสน่ห์เมตตามหานิยม เป็นสิริมงคลบันดาลโชคลาภ ช่วยป้องกันภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง อีกทั้งแคล้วคลาด คงกระพันก็เคยปรากฏ
                   พระรุ่นนี้ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้เห็นบ่อยครั้งมาก จนกระทั่งหลวงพ่อละมูล วัดเสด็จได้ขออนุญาตหลวงพ่อสังข์นำไปถอดพิมพ์และสร้างขึ้นมาอีกรุ่นที่วัดเสด็จ และนำมาให้หลวงพ่อสังข์ปลุกเสกให้ที่วัดนากันตม แล้วจึงนำกลับไปให้ญาติโยมที่วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี ได้บูชาทำบุญอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนจุดสังเกตุความแตกต่างของพระปิดตาของหลวงพ่อสังข์ สร้าง กับ ที่พระอาจารย์ละมูลถอดพิมพ์ไปสร้างที่วัดเสด็จนั้น ศิษย์สุริโย ยังไม่มีขัอมูลครับ........ ลูกศิษย์ทั้งสายตรงและสายอ้อมที่ยังไม่มีพระปิดตาหลังยันต์พิมพ์นี้ พบเจอที่ไหนอย่าปล่อยให้หลุดมือไปเป็นอันขาด เนื่องจากพระรุ่นนี้สร้างจำนวนค่อนข้างน้อย จึงหายากไม่ค่อยพบเห็นอีกทั้งยังเป็นพระของหลวงพ่ออีกรุ่นหนึ่งที่มี ประสบการณ์สูงมาก ใครมีก็หวงจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนมือมากนัก


                      ขอกราบคารวะ พระครูอุดมวรเวท(สังข์  สุริโย) ด้วยความเคารพและนับถือศรัทธายิ่ง และที่จะลืมเสียมิได้ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สำหรับผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ศิษย์สุริโย เคารพนับถือ เป็นทั้งพี่ที่เคารพ และเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำให้ความรู้ นำของที่สะสมไว้ออกมาให้ดูให้ถ่ายภาพ และอนุญาตให้นำออกเผยแพร่พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องราง ของขลัง ของหลวงพ่อสังข์ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ให้ทราบโดยละเอียดและไม่ปิดบังใด ๆ ทั้งสิ้น