วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ราหูกะลาแกะ 2 หน้า


                     ราหูกะลามะพร้าวตาเดียวแกะ พิมพ์ 2 หน้า หน้าแรก แกะเป็นรูป ราหูอมพระอาทิตย์ หน้าหลัง แกะเป็นรูปราหูอมจันทร์ ฝีมือการแกะ และ ปลุกเสกโดย พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) วัดนากันตม ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


                   กะลารุ่นนี้ แกะเป็นกะลาคู่ มี 2 ฝา รูปทรงองค์พระที่แกะคล้ายหยดน้ำ หันด้านหลังประกบกัน สุดยอดฝีมือการแกะ เพราะว่าทั้งขนาด พิมพ์ทรง ลวดลาย หน้าตา แกะเหมือนกันทั้ง 2 ฝา ไม่มีผิดเพี้ยน ถ้าดูฝาด้านหน้าด้วยตาเปล่า จะดูไม่ออกว่าฝาด้านไหนเป็นราหูอมพระอาทิตย์ และ ฝาด้านไหนเป็นราหูอมพระจันทร์ แต่ถ้าแกะแล้วแยกฝาทั้งสองออกจากกันและใช้กล้องส่องพระส่องดูด้านหลังกะลา จะสามารถแยกแยะได้จากรอยลงเหล็กจารที่หลวงพ่อสังข์ ลงคาถาอาคมกำกับไว้ เนื่องจากฝาที่เป็นราหูอมพระอาทิตย์ หลวงพ่อจะลงคาถา สุริยประภา ส่วนฝาที่เป็นราหูอมพระจันทร์ หลวงพ่อจะลงคาถา จันทรประภา               
               

                    หลวงพ่อจะนำกะลาทั้ง 2 ฝาที่ลงยันต์และปลุกเสกดีแล้ว หันด้านหลังประกบติดกัน ทำให้เป็นราหู 2 หน้า ไม่มีด้านหน้าและด้านหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ด้าน เหมือนกันทุกอย่าง จึงเรียกกันว่าราหู 2 หน้า ส่วนการประกบด้านหลังติดกันนั้นหลวงพ่อใช้วัตถุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยางตามธรรมชาติที่มีความเหนียวมากเป็นพิเศษเป็นตัวยึดให้กะลาทั้ง 2 ฝา ติดกันอย่างเหนียวแน่นซึ่งก็คือ ชันโรง นั่นเอง เมื่อทำให้ติดกันดีแล้ว แล้วจึงปลุกเสกซ้ำอีกครั้ง
                    ชันโรง  เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งคล้ายผึ้ง อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง ลำตัวและปีกจะเป็นสีดำ ชอบกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อเวลามันถ่ายออกมาจะมีสีดำข้นเหนียวและมีกลิ่นหอมประหลาด มันจะใช้มูลของมันผสมกับดินสร้างรังโดยจะนำไปผสมกับน้ำยางจากต้นไม้ใหญ่ต่าง ๆ ที่มันหาเก็บมา ทำให้รังของมันเหนียวและข้นมาก ส่วนสีนั้นจะต้องเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือออกดำคล้ายยางมะตอย การเรียกชื่อจะเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ผึ้งหอยโข่ง ผึ้งตะโหงกวัว หรือบางแห่งเรียก หูด ขี้ตังนี หรือกินชัน ทางอีสานเขาเรียกว่า ขี้สูด คนอีสานเขานิยมนำมาใช้ติดเครื่องดนตรี เช่น เต้าแคนและโหวต หรือถ่วงเครื่องดนตรีประเภทระนาด โปงราง เป็นต้น ซึ่งขี้สูดนี้จะช่วยทำให้เครื่องดนตรีเกิดเสียงไพเราะ ชันโรงที่ชาวอีสานถือกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์และนำมาใช้สร้างวัตถุมงคลนั้น จะต้องเป็นชันโรงที่ทำรังใต้ดินหรือระดับเดียวกันกับพื้นดิน เช่น ดินที่เป็นจอมปลวกเป็นต้น บางทีเขาก็เรียกว่า ขี้สูดดินเพียง ถ้าชันโรงทำรังตามต้นไม้ หรือตามโคนเสาบ้านเรือนใช้ไม่ได้เพราะทางไสยศาสตร์ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นอาถรรพ์ จึงไม่สามารถป้องกันอาถรรพ์ และเสนียดจัญไรได้ เมื่อพบแล้วก่อนที่จะนำมาใช้จะต้องทำพิธีพลีกรรม ขอจากเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา ตามตำหรับตำราภาคบังคับเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ได้ เมื่อขอแล้วจึงขุดลงไปใต้พื้นดิน บางทีตัองขุดลงไปลึก 1 ถึง 2 เมตร จึงจะได้ขี้สูดตามที่ต้องการ คนโบราณเชื่อกันว่า ขี้สูดดินเพียงเป็นของทนสิทธิ์ที่มีอาถรรพ์ลี้ลับ เป็นวัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติแม้ว่าไม่ต้องปลุกเสกก็ตาม อานุภาพของมันป้องกันไฟ กันคุณไสย มนต์ดำลมเพลมพัด กันเสนียดจัญไร  เป็นมหาอุด และแคล้วคลาด ด้วยความที่ชันโรงเป็นแมลงที่ไม่ดุร้าย จึงถือกันว่ามีเสน่ห์ทางเมตตามหานิยมอีกด้วย 
                   ดังนั้น เมื่อนำกะลาตาเดียวแกะเป็นรูปราหู 2 ฝา และยึดติดด้วยชันโรง(ขี้สูด) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติ อีกทั้งได้รับการปลุกเสกจากสุดยอดเกจิอาจารย์แดนอีสานใต้อย่าง พระครูอุดมวรเวท(หลวงพ่อสังข์  สุริโย) ด้วยแล้ว จึงเชื่อว่าจะเพิ่มความเข้มขลังให้แก่ราหูกะลาแกะพิมพ์ 2 หน้าองค์นี้ ขึ้นไปอีกเป็นร้อยเท่าทวีคูณเป็นแน่แท้
                   ราหู กะลาแกะแบบ 2 ฝา ประกบด้านหลังติดกันโดยใช้ขี้สูดดินเพียงเป็นกาวยึด ทำเป็นราหู 2 หน้า ปิดหลังนั้น จะพบเห็นได้ยากกว่าแบบ กะลาแกะฝาเดียว เปิดหลัง  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไหนทั้งแบบฝาเดียวหรือ 2 ฝา ถ้าพบเห็นกะลาแกะรูปทรงหยดน้ำ เค้าโครงใบหน้าของอสูรราหูเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเครื่องประดับศรีษะหรือกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ มีกรรเจียกหรือจอนหูประดับหูซ้ายขวาทั้งสองข้าง  ตาโปน และแก้มป่องเหมือนแบบในภาพ อย่าให้พลาดเป็นเด็ดขาดขอบอก
              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น